พระราชบัญญัติ

ช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. ๒๕๓๕

………………………………………

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕

เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                   โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยช่างรังวัดเอกชน

                   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

                   มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. ๒๕๓๕”

                   มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

                                    “ช่างรังวัดเอกชน” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้

                                    “สำนักงานช่างรังวัดเอกชน” หมายความว่า สำนักงานช่างรังวัดเอกชน ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้

                                    “การรังวัด” หมายความว่า การใช้สิทธิทำการรังวัดที่ดินตามหมวด ๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้

                                    “เจ้าพนักงานที่ดิน” หมายความว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขามอบหมาย

                                    “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

                                    “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน

                                    “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๔ ท้องที่ใดจะให้เป็นเขตที่ช่างรังวัดเอกชนทำการรังวัดได้ ให้รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

                   กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

  

หมวด ๑

คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน

……………………………………..

 

                   มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน” ประกอบด้วย

                   อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานกรรมการ นายช่างใหญ่กรมที่ดิน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด  ผู้แทนกรมแผนที่ทหาร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนเป็นกรรมการและเลขานุการ

                   มาตรา ๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

                                    (๑) กำหนดคุณวุฒิ คุณสมบัติ และพื้นความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน

                                    (๒) ออกใบอนุญาตให้เป็นช่างรังวัดเอกชน

                                    (๓) ออกใบอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน

                                    (๔) กำหนดมาตรฐานเครื่องมือรังวัดที่จะใช้ในการรังวัดของช่างรังวัดเอกชน

                                    (๕) ควบคุมสอดส่องความประพฤติและมรรยาทของช่างรังวัดเอกชน

                                    (๖) ห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชนหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน

                                    (๗) เพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน

                                    (๘) วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของช่างรังวัดเอกชน และสำนักงานช่างรังวัดเอกชน หรือเพื่อกิจการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้

                                    (๙) ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพื้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

                   มาตรา ๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

                                    (๑) ตาย

                                    (๒) ลาออก

                                    (๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ

                                    (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

                                    (๕) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

                                    (๖) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

                                    (๗) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

                    มาตรา ๑๐ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้นหรือของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน แล้วแต่กรณี

                   มาตรา ๑๑ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบตามวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่

                   มาตรา ๑๒ การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

                   มาตรา ๑๓ มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

                   มติของที่ประชุมดังต่อไปนี้จะต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดตามมาตรา ๖

                                    (๑) มติให้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๔๓

                                    (๒) มติให้สั่งห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๓)

                                    (๓) มติให้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๔)

                   มาตรา ๑๔ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย และให้นำมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม   เมื่อคณะอนุกรรมการได้กระทำการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รายงานคณะกรรมการทราบ

                   มาตรา ๑๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

                                    (๑) มีหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือสั่งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา

                                    (๒) เข้าไปยังสถานที่หรือที่ดินของบุคคลใดในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบการรังวัด แต่จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ครอบครองสถานที่หรือที่ดินนั้นทราบก่อน และให้ผู้ครอบครองสถานที่หรือที่ดินนั้นอำนวยความสะดวกตามสมควร ในการนี้ให้กรรมการ อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

                                    บัตรประจำตัวตาม(๒) ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา ๑๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้กรรมการ อนุกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

                   มาตรา ๑๗ ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนขึ้นในกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

                   โดยมีหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดอกชน เป็นนายทะเบียนและเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ

                   ในการปฏิบัติราชการของสำนักงานและมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

                                    (๑) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

                                    (๒) จัดทำและรักษาทะเบียนช่างรังวัดเอกชนและทะเบียนสำนักงานช่างรังวัดเอกชนและจดแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีไว้ในทะเบียนดังกล่าว

                                    (๓) ปฏิบัติการอื่นตามมติที่คณะกรรมการหรือมติคณะอนุกรรมการมอบหมาย

 

หมวด ๒

การอนุญาตให้เป็นช่างรังวัดเอกชน

…………………………………….

 

                   มาตรา ๑๘ ผู้ใดจะทำการเป็นช่างรังวัดเอกชนต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๑๙ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม  ดังต่อไปนี้

                                    (๑) มีสัญชาติไทย

                                    (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

                                    (๓) มีคุณวุฒิตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                                    (๔) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

                                    (๕) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

                                    (๖) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

                                    (๗) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี และมีผู้รับรองความประพฤติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                                    (๘) ไม่เคยถูกทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจลงโทษไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้าง  ทั้งนี้เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่

                                    (๙) ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตแห่งวิชาชีพ

                                    (๑๐) ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๔) เว้นแต่ได้พ้นเวลาห้าปีไปแล้ว นับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน

                   มาตรา ๒๐ การขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ

                   เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน ตามวรรคหนึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙ ให้มีมติอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนได้ และให้นายทะเบียนรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนพร้อมทั้งบัตรประจำตัวให้การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เป็นช่างรังวัดเอกชน ให้คณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จ

และนายทะเบียนแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันยื่นคำขอที่มีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมาตรา ๒๓

                   มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนหรือบัตรประจำตัวของช่างรังวัดเอกชนชำรุดหรือสูญหาย ให้ช่างรังวัดเอกชนนั้นยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตหรือคำขอออกบัตรประจำตัวใหม่ต่อนายทะเบียน

                   มาตรา ๒๒ ช่างรังวัดเอกชนจะทำการรังวัดหรือตรวจสอบรับรองผลการรังวัดตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต่อเมื่อได้เข้าอยู่ในสังกัดสำนักงานช่างรังวัดเอกชนแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว

ห้ามมิให้ช่างรังวัดเอกชนเข้าอยู่ในสังกัดสำนักงานช่างรังวัดเอกชนเกินหนึ่งแห่งในขณะเดียวกัน

                   มาตรา ๒๓ การขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน การออกใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตและการออกบัตรประจำตัวช่างรังวัดเอกชน ให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

หมวด ๓

สำนักงานช่างรังวัดเอกชน

………………………………………..

 

                   มาตรา ๒๔ ผู้ใดจะจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๒๕ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ

ต้องห้ามดังต่อไปนี้

                                    (๑) มีสัญชาติไทย

                                    (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

                                    (๓) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนและตำแหน่งประจำหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

                                    (๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

                                    (๕) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

                                    (๖) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

                                    (๗) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

                                    (๘) ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ตามมาตรา ๔๓  หรือใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๔)

                   ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๔) และ (๘) ด้วย

                   นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามวรรคสอง หมายถึง บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่ง

                                    (๑) มีทุนเกินกึ่งหนึ่งเป็นของคนสัญชาติไทย และ

                                    (๒) มีคนสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน

                   มาตรา ๒๖ การขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ

                   เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามวรรคหนึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕ และมีหลักฐานแสดงได้ว่าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๘ ให้มีมติอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนได้ ให้นายทะเบียนรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนให้

                   การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ให้คณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จ และนายทะเบียนแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันยื่นคำขอที่มีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๘

                   มาตรา ๒๗ ในกรณีที่ใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนชำรุดหรือสูญหายให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่อนายทะเบียน

                   มาตรา ๒๘ การขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน การออกใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติเกี่ยวกับช่างรังวัดเอกชนที่จะเข้าสังกัด ประเภทและจำนวนของเครื่องมือรังวัดที่จะต้องมีด้วยก็ได้

                   มาตรา ๒๙ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประจำปีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประจำปี ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ

                   การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประจำปี จะชำระโดยการส่งธนาณัติหรือการส่งตั๋วแลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับสั่งจ่ายให้แก่สำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนก็ได้ และให้ถือว่าวันที่ได้ส่งทางไปรษณีย์เป็นวันชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประจำปี

                   มาตรา ๓๐ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนต้องมีสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา๒๘ วรรคสอง

                   ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานช่างรังวัดเอกชน

                   การย้ายสำนักงานช่างรังวัดเอกชนจะกระทำได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                   มาตรา ๓๑ สำนักงานช่างรังวัดเอกชนจะดำเนินการได้ต้องมีผู้จัดการซึ่งเป็นช่างรังวัดเอกชน

                   ให้ผู้จัดการเป็นผู้ทำการแทนสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ในกรณีที่ผู้จัดการสำนักงานช่างรังวัดเอกชนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัดคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทน

                   การใดที่ผู้จัดการหรือผู้ทำการแทนกระทำไปในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการของสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ให้ถือว่าเป็นการกระทำของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

                   มาตรา ๓๒ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนแจ้งชื่อผู้จัดการและชื่อช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัดต่อนายทะเบียนก่อนเริ่มดำเนินการ และในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้จัดการหรือช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัด ให้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                   มาตรา ๓๓ ห้ามผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนรับบุคคลใดเข้าทำงานเป็นช่างรังวัดเอกชนในสำนักงานของตนโดยผู้นั้นไม่มีใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน หรือผู้นั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๔)

                   ห้ามผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนใช้ผู้ที่ถูกห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๓) หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๔) ทำการรังวัดในกิจการของสำนักงาน

                   มาตรา ๓๔ ผู้จัดการสำนักงานช่างรังวัดเอกชนหรือผู้ทำการแทนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรังวัดดังต่อไปนี้

                                    (๑) ทำสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินเป็นหนังสือโดยมีรายละเอียดอย่างน้อยตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

                                    (๒) ตรวจสอบและลงชื่อรับรองผลการรังวัดของช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัด

                                    (๓) ในกรณีที่ผู้จัดการสำนักงานช่างรังวัดเอกชนเป็นผู้ทำการรังวัดด้วยตนเองจะต้องมีช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัดตรวจสอบและลงชื่อรับรองผลการรังวัดด้วย

                                    (๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

                   สัญญาจ้างทำการรังวัดที่ดินใดที่มีเงื่อนไขเพื่อให้ช่างรังวัดเอกชนหรือสำนักงานช่างรังวัดเอกชนไม่ต้องรับผิดแตกต่างไปจากพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นโมฆะ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากคณะกรรมการ เงื่อนไขใดที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบแล้วให้ใช้ได้ตลอดไป จนกว่าคณะกรรมการจะสั่งเป็นอย่างอื่น

                   มาตรา ๓๕ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน  ต้องร่วมกันรับผิดกับผู้จัดการสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัด และลูกจ้างของสำนักงานช่างรังวัดเอกชน สำหรับการกระทำที่ได้กระทำไปในกิจการของสำนักงานช่างรังวัดเอกชน

                   มาตรา ๓๖ ใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

                                    (๑) ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตาย

                                    (๒) นิติบุคคลผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนสิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล

                                    (๓) คณะกรรมการสั่งให้เลิกสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๔๒

                                    (๔) คณะกรรมการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๔๓

                   มาตรา ๓๗ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตาย ถ้าทายาทหรือผู้จัดการมรดกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕ ประสงค์จะประกอบกิจการสำนักงานช่างรังวัดเอกชนต่อไป ให้ยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนต่อนายทะเบียนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตาย

                   เมื่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและคณะกรรมการมีมติให้โอนแล้ว ให้นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ใหม่

                   ในระหว่างระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้จัดการหรือผู้ทำการแทนตามมาตรา ๓๑ ดำเนินงานรังวัดที่ค้างอยู่ต่อไปได้จนกว่าทายาทหรือผู้จัดการมรดกจะได้รับโอนใบอนุญาตตามวรรคสอง

                   มาตรา ๓๘ ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกเป็นผู้รับโอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน  ตามมาตรา ๓๗ เมื่อผู้จัดการมรดกจะโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ทายาท  ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕ ให้ยื่นคำขอโอนใบอนุญาตต่อนายทะเบียนและเมื่อคณะกรรมการมีมติให้โอนแล้วให้นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ใหม่

                   มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนประสงค์จะโอนการประกอบกิจการสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนและผู้รับโอนซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕ ยื่นคำขอโอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนต่อนายทะเบียน  เมื่อคณะกรรมการมีมติให้โอนแล้ว ให้นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ใหม่

                   มาตรา ๔๐ ผู้รับโอนใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนใบอนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินงานรังวัดที่ค้างอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๔๑ การขอรับโอนใบอนุญาตตามมาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   มาตรา ๔๒ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนประสงค์จะเลิกสำนักงานให้แจ้งต่อนายทะเบียน และเมื่อนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้วว่างานที่ทำสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินไว้นั้น ดำเนินการเสร็จและมีการส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ให้นายทะเบียนเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งให้เลิกสำนักงานได้

                   มาตรา ๔๓ คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนในกรณีดังต่อไปนี้

                                    (๑) ผู้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕

                                    (๒) ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนมาตรา ๔๗

                                    (๓) ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา ๕๕

                                    (๔) ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการรังวัดที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน   หรือไม่ควบคุมหรือตรวจสอบการรังวัดที่ดินของช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัดของตน จนเป็นเหตุให้งานรังวัดผิดพลาดหรือมีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต โดยได้รับคำเตือนเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว และคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้เพิกถอนใบอนุญาต

                                    (๕) ผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินให้เสร็จภายในเวลาอันสมควร โดยได้รับคำเตือนเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว และคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้เพิกถอนใบอนุญาต

                                    (๖) ผู้รับใบอนุญาตไม่แจ้งการเลิกสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๔๒ หรือไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประจำปีเป็นเวลานานเกินหกเดือน และคณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรให้เพิกถอนใบอนุญาต

                                    ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตไปยังผู้รับใบอนุญาตภายในสิบห้าวันนับแต่คณะกรรมการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

 

หมวด ๔

สิทธิทำการรังวัดที่ดิน และสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดิน

…………………………………………………..

 

                   มาตรา ๔๔ ช่างรังวัดเอกชนมีสิทธิทำการรังวัดตามประมวลกฎหมายที่ดินได้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเพื่อการสอบเขต แบ่งแยก หรือรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกัน โดยปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๔๕ เมื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินประสงค์จะขอรังวัดที่ดินเพื่อการสอบเขต แบ่งแยก หรือรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกัน โดยให้ช่างรังวัดเอกชนเป็นผู้ทำการรังวัดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรังวัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน พร้อมทั้งระบุสำนักงานช่างรังวัดเอกชนที่จะให้ทำการรังวัด

                   มาตรา ๔๖ เมื่อผู้แทนสำนักงานช่างรังวัดเอกชนนำสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินที่ทำไว้กับผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมาตรา ๓๔ รายใด มาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ให้เจ้าพนักงานที่ดินมอบสำเนาเอกสารที่ผู้มีกรรมสิทธิในที่ดินรายนั้นยื่นคำขอรังวัดไว้ตามมาตรา ๔๕   พร้อมด้วยสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการแผนที่และเอกสารอื่นที่จำเป็นในการทำการรังวัดซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินรับรองแล้ว ให้ไปดำเนินการรังวัดโดยไม่ชักช้า

                   ให้เรียกค่าธรรมเนียมจากสำนักงานช่างรังวัดเอกชนได้เฉพาะค่าคัดสำเนาเอกสารตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   มาตรา ๔๗ เมื่อได้แสดงสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา ๔๖ แล้ว ห้ามมิให้สำนักงานช่างรังวัดเอกชนโอนหรือมอบหมายงานรังวัดนั้นให้สำนักงานช่างรังวัดเอกชนอื่นทำการแทน   เว้นแต่เป็นความประสงค์ของผู้ว่าจ้างและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                   มาตรา ๔๘ เพื่อประโยชน์ในการรังวัด ให้ช่างรังวัดเอกชนและคนงานของช่างรังวัดเอกชนมีสิทธิเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก แต่ต้องแจ้งให้ผู้มีสิทธิในที่ดิน

หรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นทราบก่อน

                   ในการรังวัด ให้ช่างรังวัดเอกชนมีสิทธิเคลื่อนย้าย ถอดถอน หรือจัดทำหลักหมายเขตที่ดิน และในกรณีจำเป็นอาจขุดดิน ตัด รานกิ่งไม้ หรือกระทำการอย่างอื่นแก่สิ่งที่กีดขวางต่อการรังวัดในที่ดินที่ทำการรังวัดหรือในที่ดินข้างเคียงได้ ทั้งนี้ ต้องกระทำโดยระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายเกินความจำเป็น

                   มาตรา ๔๙ วิธีการรังวัดของช่างรังวัดเอกชน ให้นำวิธีการรังวัดซึ่งกำหนดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้บังคับโดยอนุโลม

                   มาตรา ๕๐ ในการรังวัด ให้ช่างรังวัดเอกชนบันทึกถ้อยคำผู้ขอทำการรังวัดผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรังวัดนั้น

                   ในการรังวัด ถ้าปรากฏว่ามีการคัดค้านเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินนั้นถ้าผู้ขอทำการรังวัด ผู้คัดค้าน และผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงยินยอมนำชี้เขตที่ดินของแต่ละฝ่ายแล้ว ให้ช่างรังวัดเอกชนทำแผนที่แสดงเขตคัดค้านได้

                   ถ้ามีกรณีตามวรรคสอง เมื่อช่างรังวัดเอกชนได้ส่งมอบเรื่องการรังวัดให้เจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา๕๔ แล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการไปตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

                   มาตรา ๕๑ ช่างรังวัดเอกชนต้องใช้เครื่องมือรังวัดที่ได้ผ่านการตรวจสอบและมีการให้คำรับรองตามกฎหมายว่าด้วยมาตราชั่งตวงวัดแล้ว และเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

                   มาตรา ๕๒ สำนักงานช่างรังวัดเอกชนและช่างรังวัดเอกชนมีหน้าที่ดูแลเครื่องมือรังวัดที่ใช้ในการรังวัดตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๕๑ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเครื่องมือรังวัดมาตรวจสอบได้ หากพบว่าเครื่องรังวัดไม่เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๕๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งห้ามใช้จนกว่าจะได้แก้ไขให้ถูกต้อง

                   มาตรา ๕๓ เมื่อช่างรังวัดเอกชนได้จัดทำหลักหมายเขตที่ดินลงในที่ดินแล้ว แต่ยังมิได้ส่งงานรังวัดตามมาตรา ๕๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากช่างรังวัดเอกชนผู้มีอำนาจกระทำการดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดิน หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานที่ดินเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตที่ดินนั้น

                   มาตรา ๕๔ เมื่อช่างรังวัดเอกชนได้ดำเนินการเรื่องรังวัดเสร็จแล้วให้ส่งเอกสารและหลักฐานที่ช่างรังวัดเอกชนได้จัดทำขึ้นหรือที่ได้รับไว้เกี่ยวกับการรังวัดนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน

                   ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตที่ดิน ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานที่ดินได้รับเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่งแล้ว   เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดินหรือเจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้ทำการแก้ไขหรือทำการรังวัดใหม่

                   มาตรา ๕๕ ให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบเอกสารและหลักฐานที่ช่างรังวัดเอกชนได้จัดทำขึ้นและส่งต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ถ้าพบว่าเอกสารและหลักฐานใดยังคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องหรือมีข้อบกพร่องในการรังวัด ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจออกคำสั่งให้สำนักงานช่างรังวัดเอกชน ผู้รับจ้างแก้ไขเอกสารและหลักฐานนั้นหรือทำการรังวัดใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

                   ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารและหลักฐานหรือทำการรังวัดใหม่ให้สำนักงานช่างรังวัดเอกชนผู้รับจ้างเป็นผู้จ่าย

                   มาตรา ๕๖ การแก้ไขข้อบกพร่องหรือทำการรังวัดใหม่ตามมาตรา ๕๕ ในกรณีที่ใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนสิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๖ ให้เจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้ช่างรังวัดสังกัดกรมที่ดิน ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องหรือทำการรังวัดใหม่แทน ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องหรือทำการรังวัดใหม่ ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จ่ายตามอัตราของทางราชการ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ว่าจ้างที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนหรือผู้จัดการสำนักงานช่างรังวัดเอกชนหรือช่างรังวัดเอกชน

                   เมื่อทำสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินไว้แล้วแต่ยังไม่เริ่มดำเนินการ หรือดำเนินการยังไม่เสร็จและใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนนั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๖ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

                   มาตรา ๕๗ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบและให้ความเห็นชอบเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินที่ช่างรังวัดเอกชนส่งให้แล้ว ให้ถือว่าการรังวัดนั้นเป็นการรังวัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

                   บทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้สำนักงานช่างรังวัดเอกชน และช่างรังวัดเอกชนผู้กระทำการรังวัดที่ดินนั้นพ้นจากความรับผิดในทางแพ่งหรือทางอาญาเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินดังกล่าว

 

หมวด ๕

การประพฤติผิดมรรยาทและการขาดคุณสมบัติ

…………………………………………….

 

                   มาตรา ๕๘ ช่างรังวัดเอกชนต้องปฏิบัติตามมรรยาทช่างรังวัดเอกชนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   ช่างรังวัดเอกชนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมรรยาทช่างรังวัดเอกชนที่กำหนดในกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาทช่างรังวัดเอกชน

                   มาตรา ๕๙ บุคคลใดได้รับความเสียหายจากการที่ช่างรังวัดเอกชนประพฤติผิดมรรยาทช่างรังวัดเอกชน มีสิทธิกล่าวหาช่างรังวัดเอกชนนั้นว่าประพฤติผิดมรรยาทช่างรังวัดเอกชน โดยยื่นเรื่องราวกล่าวหาต่อคณะกรรมการ

                   เมื่อปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าช่างรังวัดเอกชนผู้ใดประพฤติผิดมรรยาทช่างรังวัดเอกชนพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกล่าวหาได้ตามวรรคหนึ่ง

                   สิทธิกล่าวหาในวรรคหนึ่งและวรรคสองสิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันรู้เรื่องการประพฤติผิดมรรยาทช่างรังวัดเอกชนและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันประพฤติผิดมรรยาทช่างรังวัดเอกชน

                   การถอนเรื่องราวกล่าวหาที่ได้ยื่นไว้แล้วตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่เป็นเหตุให้ระงับการสอบสวนเกี่ยวกับมรรยาทช่างรังวัดเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๖๐ เมื่อคณะกรรมการได้รับเรื่องราวกล่าวหาช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๕๙ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประกอบด้วยอนุกรรมการไม่น้อยกว่าสามคนทำการสอบสวนข้อกล่าวหา

                   การพิจารณาสอบสวนข้อกล่าวหาของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

                   เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาสอบสวนเสร็จแล้วให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า

                   มาตรา ๖๑ เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นจากคณะอนุกรรมการแล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดโดยทำเป็นคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

                                    (๑) ยกข้อกล่าวหา

                                    (๒) ภาคทัณฑ์

                                    (๓) ห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชนมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินหนึ่งปี

                                    (๔) เพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน

                   คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้คณะอนุกรรมการทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดได้

                   มาตรา ๖๒ ให้นายทะเบียนแจ้งคำสั่งตามมาตรา ๖๑ ให้ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา และสำนักงานช่างรังวัดเอกชนที่ช่างรังวัดเอกชนผู้ถูกกล่าวหานั้นอยู่ในสังกัดทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด

                   มาตรา ๖๓ เมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการว่า ช่างรังวัดเอกชนผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๙  ไม่ว่าก่อนหรือหลังรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวได้ และให้นำมาตรา ๖๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                   การสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติเกี่ยวกับการรังวัดที่ช่างรังวัดเอกชนผู้นั้นได้กระทำมาก่อน

 

หมวด ๖

การอุทธรณ์

…………………………………………..

 

                   มาตรา ๖๔ ในกรณีที่คณะกรรมการได้พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๒๐ คำขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๒๖ คำขอรับโอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๓๗ หรือคำขอโอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๓๙ แล้วมีมติไม่อนุญาต ให้ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาต

                   ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์และให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีเป็นที่สุด

                   มาตรา ๖๕ ให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๔๓ ใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๔) และมาตรา ๖๓ หรือถูกภาคทัณฑ์ตามมาตรา ๖๑(๒) หรือถูกห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๖๑(๓) มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการ

                   ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์และให้คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีเป็นที่สุด

                   ในระหว่างที่ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ทำการไปพลางก่อนได้เมื่อผู้อุทธรณ์ร้องขอ

 

หมวด ๗

บทกำหนดโทษ

…………………………………………

 

                   มาตรา ๖๖ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำหรือคำสั่งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา ๑๕(๑)     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๖๗ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการตรวจสอบการรังวัดตามมาตรา ๑๕(๒) หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

                   มาตรา ๖๘ ช่างรังวัดเอกชนผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๖๙ ผู้ใดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๗๐ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

                   มาตรา ๗๑ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๗๒ ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน หรือช่างรังวัดเอกชนผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งห้ามใช้เครื่องมือรังวัดตามมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพ้นบาท

                   มาตรา ๗๓ ผู้ใดเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตที่ดินที่ช่างรังวัดเอกชนได้ทำไว้ตามมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๗๔ ผู้ใดเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตที่ดินที่ช่างรังวัดเอกชนได้ทำไว้โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดินตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                                    อานันท์ ปันยารชุน

                            นายกรัฐมนตรี

 

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๖ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๕)

 

บัญชีอัตราค่าธรรมเนียม

        ๑. คำขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน                                                                                          ๒๐ บาท

        ๒. คำขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน                                                                        ๒๐ บาท

        ๓. คำขอรับโอนหรือโอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน                                                      ๒๐ บาท

        ๔. ใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน                                                                                                   ๕๐๐ บาท

        ๕. ใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน ปีละ                                                                        ๑,๐๐๐ บาท

        ๖. ใบแทนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน หรือใบแทนใบอนุญาต

            จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน                                                                                                   ๑๐๐ บาท

        ๗. ค่าตรวจสอบเครื่องมือรังวัด ชิ้นละ                                                                                             ๕๐๐ บาท

        ๘. ค่าคัดสำเนาหรือถ่ายเอกสาร หน้าละ                                                                                                ๕ บาท

        ๙. การรับรองสำเนาเอกสาร ชุดละ                                                                                                     ๑๐ บาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 


หมายเหตุ :-

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีงานเกี่ยวกับ

การรังวัดที่ดิน ที่มีโฉนดที่ดินเพื่อการสอบเขตที่ดิน การแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง

หรือการรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และนับวันจะ

เพิ่มมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ช่างรังวัดของกรมที่ดินที่มีอยู่ในขณะนี้มีไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติการใน

เรื่องดังกล่าวได้ทันความต้องการของประชาชน ฉะนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็ว

แก่ประชาชน สมควรให้ช่างรังวัดเอกชนรับทำการรังวัดเพื่อการดังกล่าวได้โดยให้อยู่ภายใต้

การกำกับของกรมที่ดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้