>> ที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
กรมที่ดิน ชั้น 5 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 0-2141-5745, 0-2141-5745-8
โทรสาร : 0-2143-9118
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ plslb@dol.go.th
>>ที่มาสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
สำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากอง สังกัดกรมที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 มีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนเป็นนายทะเบียนและเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานฯ เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน และปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย จัดทำและรักษาทะเบียนช่างรังวัดเอกชนและสำนักงานช่างรังวัดเอกชน จดแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีไว้ในทะเบียน
คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
ประกอบด้วย อธิบดีกรมที่ดินเป็นประธานกรรมการ นายช่างใหญ่กรมที่ดิน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกรมแผนที่ทหาร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินเจ็ดคน มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ เป็นกรรมการและหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่
1. กำหนดคุณวุฒิ คุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน
2. ออกใบอนุญาตให้เป็นช่างรังวัดเอกชนและใบอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน
3. กำหนดมาตรฐานเครื่องมือรังวัดที่จะใช้ในการรังวัดของช่างรังวัดเอกชน
4. ควบคุมสอดส่องความประพฤติและมรรยาทของช่างรังวัดเอกชน
5. ห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชน หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน
6. เพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน
7. วางระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของช่างรังวัดเอกชน และสำนักงานช่างรังวัดเอกชน หรือเพื่อกิจการอื่นตามพระราชบัญญัติ
8. ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน
สำนักงานช่างรังวัดเอกชน
ผู้ขออนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชน อาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยจะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) และแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2548 กำหนดไว้ ดังนี้
1. จัดให้มีผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นช่างรังวัดเอกชน ในสังกัดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน
2. แสดงชื่อ คุณวุฒิ จำนวนของช่างรังวัดเอกชนไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานช่างรังวัดเอกชน
3. มีกรรมสิทธิ์ในเครื่องมือรังวัด ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับนายทะเบียน ดังต่อไปนี้
1. กล้องธิโอโดไลท์ ไม่น้อยกว่าสองกล้อง
2. เทปวัดระยะ ไม่น้อยกว่าจำนวนช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ในสังกัด
ข้อควรทราบ
1. สำนักงานช่างรังวัดเอกชนจะรับจ้างทำการรังวัดได้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน และเฉพาะการรังวัดประเภทสอบเขต แบ่งแยก และรวมโฉนดที่ดิน เท่านั้น
2. สำนักงานช่างรังวัดเอกชนจะต้องมีผู้จัดการซึ่งเป็นช่างรังวัดเอกชนเป็นผู้ทำการแทนสำนักงานช่างรังวัดเอกชน
3. เครื่องมือที่ใช้ในการรังวัดจะต้องเป็นเครื่องมือรังวัดที่ได้ผ่านการตรวจสอบ และรับรองตามกฎหมาย รวมทั้งผ่านการตรวจสอบเครื่องมือ ตามที่คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนกำหนด อย่างน้อยสองปีต่อครั้ง
4. ที่ตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนต้องตั้งตามสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานฯ จะย้ายต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ฝ่าฝืนมีความผิดและมีโทษตามมาตรา 70
5. ห้ามรับช่างรังวัดเอกชนที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ฝ่าฝืนมีความผิดและมีโทษตามมาตรา 71
6. ห้ามโอนงาน หรือมอบหมายงานรังวัดให้สำนักงานช่างรังวัดเอกชนอื่นทำการแทน เว้นแต่เป็นความประสงค์ของผู้ว่าจ้างและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดิน ตามมาตรา 47 ฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามมาตรา 43 (2)
ช่างรังวัดเอกชน
ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 19 โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ คือ มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจในขณะนั้น (เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ที่มีสิทธิเป็นช่างรังวัดเอกชน) และอยู่ในหลักเกณฑ์ ตามระเบียบคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน ว่าด้วยคุณวุฒิ คุณสมบัติ และพื้นความรู้ของช่างรังวัดเอกชนที่จะต้องผ่านการทดสอบความรู้จากคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชน
ข้อควรทราบ
1. เมื่อได้รับอนุญาตให้เป็นช่างรังวัดเอกชนแล้ว ต้องเข้าอยู่ในสังกัดสำนักงานช่างรังวัดเอกชนแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว จึงจะสามารถทำการรังวัด หรือตรวจสอบรับรองผลการรังวัดได้
2. ห้ามสังกัดสำนักงานช่างรังวัดเอกชนเกินหนึ่งแห่งในขณะเดียวกัน
3. ต้องปฏิบัติตามมรรยาทช่างรังวัดเอกชนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
4. โทษของการประพฤติผิดมรรยาท มี 4 ประการ คือ
1. ยกข้อกล่าวหา
2. ภาคทัณฑ์
3. ห้ามทำการเป็นช่างรังวัดเอกชน มีกำหนดตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 1 ปี
4. เพิกถอนใบอนุญาตเป็นช่างรังวัดเอกชน
สิทธิทำการรังวัดที่ดิน
ช่างรังวัดเอกชน มีสิทธิทำการรังวัดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้เฉพาะที่ดินที่มีโฉนดที่ดินเท่านั้น เพื่อการสอบเขต แบ่งแยก หรือรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันช่างรังวัดเอกชน มีสิทธิที่ทำการรังวัดที่ดินดังกล่าว ในท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน และประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 เรื่อง กำหนดท้องที่ที่ช่างรังวัดเอกชนทำการรังวัดได้
การทำสัญญาว่าจ้างช่างรังวัดเอกชน
ผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินประสงค์ที่จะขอรังวัดที่ดินเพื่อการสอบเขต แบ่งแยกหรือรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกัน โดยให้ช่างรังวัดเอกชนเป็นผู้ทำการรังวัด ตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. 2535 ให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินยื่นคำขอรังวัดที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินที่อยู่ในเขตอำนาจที่ตั้งที่ดินนั้นพร้อมทั้งระบุสำนักงานช่างรังวัดเอกชนที่จะให้ทำการรังวัดตามสัญญาว่าจ้างทำการรังวัดที่ดิน และผู้แทนสำนักงานช่างรังวัดเอกชน จะนำสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินที่ทำกับผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และรับเอกสารที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรายนั้นยื่นคำขอรังวัดไว้ พร้อมสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการทำแผนที่ และเอกสารที่เกี่ยวข้องไปทำการรังวัดที่ดินตามวิธีการรังวัด ซึ่งกำหนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบเอกสาร และหลักฐานเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินที่ช่างรังวัดเอกชนส่งให้แล้ว ให้ถือว่าการรังวัดนั้น เป็นการรังวัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการรังวัดนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงราคากันระหว่างผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินกับสำนักงานช่างรังวัดเอกชน
สัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดิน
1. ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามที่คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนกำหนดแบบไว้
2. หากมีเงื่อนไขที่ให้รับผิดชอบแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติกำหนดเป็นโมฆะ เว้นแต่คณะกรรมการฯ จะเห็นชอบเป็นหนังสือแล้ว
การยื่นคำขอรังวัด
1. เจ้าของที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ยื่นคำขอที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินสาขาที่ที่ดินตั้งอยู่
2. ระบุสำนักงานช่างรังวัดเอกชนที่จะให้ทำการรังวัด
3. การขอเอกสารเกี่ยวกับการรังวัด สำนักงานช่างรังวัดเอกชน ต้องแสดงสัญญารับจ้างทำการรังวัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อขอรับสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการรังวัด วิธีการรังวัด ให้นำวิธีการรังวัด ซึ่งกำหนดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้บังคับโดยอนุโลม