กรมที่ดิน

ระบบบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์กับการดำเนินงานของสำนักงานที่ดิน

ระบบบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ กับการดำเนินงานของสำนักงานที่ดิน

 

กองแผนงาน และศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพกรมที่ดิน


                    บทความนี้เรียบเรียง คัดย่อ และปรับปรุง จากเอกสาร และคู่มือการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ ของทั้งสำนักงาน ก.. และกรมที่ดิน เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สำนักงานที่ดิน * เนื้อหาสาระในส่วนแรกประกอบด้วย ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ประโยชน์ ของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ ส่วนที่สองกล่าวถึงการพัฒนาระบบการบริหารฯดังกล่าว และในส่วนที่สามให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานที่ดิน

ความเป็นมา           

                    ในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์  (RBM) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนการปรับเปลี่ยน   บทบาทภารกิจและวิธีการบริหารงานของภาครัฐ อันเป็นหนึ่งในห้าของแผนงานหลักตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ    ตามมติของคณะรัฐมนตรี   เมื่อวันที่   11   พฤษภาคม   2542    โดยมีสำนักงาน ก.. เป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดแนวทางการเลื่อนขั้นเงินเดือน และการรับเงินรางวัลประจำปีของแต่ละหน่วยงาน  ที่จะพิจารณาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานราชการเป็นสำคัญ   ซึ่งได้แก่การที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องนำระบบการบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์มาใช้ในการบริหารงานภายในหน่วยงาด้วย

                    ดังนั้นกรมที่ดินจึงร่วมกับสำนักงาน ก. . นำระบบนี้มาช่วยในการบริหารงานของกรม โดยจะเริ่มใช้ระบบนี้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2545 เป็นต้นไป

แนวคิดการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ของระบบราชการไทย

                    สำนักงาน ก.. ได้นำเทคนิควิธีการบริหารสมัยใหม่ 2 แนวคิด มาผสมผสานและประยุกต์ใช้ในการบริหารงานของระบบราชการไทยกล่าวคือ  เทคนิคการบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์  ซึ่งมีแนวคิดหลักเกี่ยวกับการบริหารที่มุ่งเน้นสัมฤทธิ์ผลของงาน  (ผลผลิต + ผลลัพธ์)   และเทคนิค  Balanced  Scorecard  ซึ่งมีแนวคิดหลักเกี่ยวกับการบริหารที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่จะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมกรอบการประเมินผลสัมฤทธิ์(Perspectives) ทั้ง4 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์ประกอบภายใน ด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร ด้านนวัตกรรม  และด้านการเงิน จึงจะสามารถทำให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์หมายถึงอะไร

                    การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์มาจากภาษาอังกฤษว่า  Results Based Management  และมี   คำย่อที่เรียกกันทั่วไปว่า  “ RBM ”

                    ในที่นี้การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์มีความหมายเฉพาะว่า เป็นวิธีการบริหารจัดการที่เป็นระบบที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลัก โดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 

                    ฉะนั้น ในการดำเนินงานของระบบนี้ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดผลงาน (Indicators)  สำหรับตรวจสอบความสำเร็จของหน่วยงานเป็นสำคัญ    อันจะนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานให้ดีขึ้นต่อไป ในทางการบริหารได้ให้สมการของคำว่า ผลสัมฤทธิ์ไว้ดังนี้

                    ผลสัมฤทธิ์ (Results)  =   ผลผลิต (Out puts)  +  ผลลัพธ์ (Out comes) ”

                    “ผลผลิต”  หมายถึง  กิจกรรม/งาน  หรือ  บริการที่ทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว  เพื่อส่งให้ผู้รับ

บริการอย่างเป็นรูปธรรม/นับเป็นชิ้นได้  ตัวอย่าง  ผลผลิตในการให้บริการของสำนักงานที่ดินแห่งหนึ่ง คือ   แจกโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน  จำนวน  5  ราย  เป็นต้น

                    “ผลลัพธ์”   หมายถึง   เหตุการณ์/สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากผลผลิต และมีความเกี่ยวข้อง  

โดยตรงต่อผู้ใช้บริการและสาธารณะ ตัวอย่าง ผลลัพธ์ของการแจกโฉนดที่ดินดังกล่าว  ก็คือเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย    และมีความมั่นใจความเป็นเจ้าของและสร้างความมั่นคงในทางการปกครอง    เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของ   RBM

                    ระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ นอกจากจะเป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้บริหารขององค์กรสามารถนำไปช่วยในการบริหารจัดการได้ดังนี้

  • สามารถนำไปปรับปรุงผลการปฏิบัติงานขององค์กรดีขึ้น            
     
  • ใช้ควบคุมทิศทางการปฏิบัติงานขององค์กรให้มุ่งตรงไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
     
  • บ่งบอกความก้าวหน้าและความสำเร็จขององค์กร
     

ประโยชน์ที่ได้รับ

                     ด้านเจ้าหน้าที่

  • ทราบเป้าหมายการทำงาน
     
  • ทราบระดับความสำเร็จของการปฏิบัติงาน
     
  • ได้รับผลตอบแทนตามผลของการปฏิบัติงาน
     

                    ด้านผู้บริหาร

  • รับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์และการบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร
     
  • สร้างพันธะความรับผิดชอบที่เป็นทางการต่อรัฐบาลและสาธารณะ
     
  • ใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการปรับปรุงผลการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล
     
  • ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนและการให้ผลตอบแทนประจำปี             
     

                    ด้านองค์กร

  • ใช้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการขอจัดสรรงบประมาณ
     
  • ใช้เป็นเครื่องชี้ความคาดหวังของประชาชนผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้เสีย
     

การพัฒนาระบบระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ของกรมที่ดิน

การดำเนินการพัฒนาระบบฯนี้ได้กำหนดขั้นตอนการทำงานไว้ 9 ขั้นตอน เริ่มด้วยการวิเคราะห์วิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร กำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก กำหนดแหล่งข้อมูล ตั้งเป้าหมาย รวบรวมข้อมูล บันทึกและอนุมัติข้อมูล วิเคราะห์ผล และรายงานผล

การวิเคราะห์วิสัยทัศน์และพันธกิจ

                     การวิเคราะห์วิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรมีความจำเป็นเพื่อให้ทราบความมุ่งหมายที่แท้จริง ทิศทางที่องค์กรต้องการมุ่งไป เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของ     วิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร  

                     วิสัยทัศน์ของกรมที่ดิน คือ เป็นองค์การที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการ และคุ้มครองสิทธิการถือครองที่ดินของรัฐและประชาชน มุ่งเน้นการให้บริการโดยการบริหารจัดการที่ดี มีมาตรฐานสากล มุ่งผลสัมฤทธิ์

                     พันธกิจของกรมที่ดิน 5 ประการ ได้แก่

  • การทำแผนที่และการรังวัด
     
  • การทะเบียนที่ดิน
     
  • การบริหารจัดการที่ดิน
     
  • การปฏิบัติการและให้บริการประชาชน
     
  • การสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดิน
     

         จากการวิเคราะห์ฯ ดังกล่าว ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการไว้ 2 ประการ ได้แก่ คุ้มครองสิทธิในที่ดิน และให้บริการด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว ถูกต้อง สุจริต    เสมอภาค ยุติธรรม ตรวจสอบได้ทุกระดับ ซึ่งในระยะแรก กรมที่ดินมุ่งเน้นการดำเนินงานบริการเป็นหลัก

การกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ

                     ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (Critical Success Factor - CSF) คือปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งต่อการบรรลุความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ และเป็นแนวทางที่ยึดโยงการปฏิบัติงานทุกระดับให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน อันจะทำให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารรู้ว่าต้องทำสิ่งใดบ้างเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของ    องค์กรตอบสนองวิสัยทัศน์

                     ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จนั้น จะต้องมีความสัมพันธ์โดยตรงกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์กร และควรมุ่งเน้นเฉพาะงานที่สำคัญเท่านั้น สำหรับกรมที่ดินได้กำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จทั้ง 4 ด้านรวม 10 ตัว

การกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก

ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (Key Performance Indicator – KPI) คือตัวชี้วัด             ความก้าวหน้าของการบรรลุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ

ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักที่ดีต้องมีความถูกต้อง เหมาะสม สามารถที่จะโน้มน้าวให้ทุกคนในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนสาธารณชนเชื่อถือผลงานที่วัดจากตัวชี้วัดเหล่านี้ ในเบื้องต้นกรมที่ดินได้กำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักรวมทั้งสิ้น 17 ตัว

การกำหนดแหล่งข้อมูล

                     การกำหนดแหล่งข้อมูล เป็นขั้นตอนต่อจากการกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก เพื่อให้ทราบว่ามีข้อมูลที่ต้องการใช้วัดผลการปฏิบัติงานอยู่แล้วหรือไม่ เก็บอยู่ในรูปแบบใด เป็นเอกสารหรืออยู่ในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ แหล่งข้อมูลนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนัก/กอง หรือหน่วยงานใด 

การตั้งเป้าหมาย

                      เป้าหมาย คือระดับ หรือมาตรฐานของผลการปฏิบัติงานที่องค์กรกำหนดขึ้นสำหรับใช้เป็นหลักเปรียบเทียบเพื่อวัดความก้าวหน้า ความสำเร็จขององค์กร

                     หัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักแต่ละตัว เนื่องจากหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้กำหนดนโยบายการปฏิบัติงาน เป็นผู้ชี้ทิศทางขององค์กร และเป็นผู้รับผิดชอบผลการทำงานในภาพรวม

 

การรวบรวมข้อมูล

                     วิธีการรวบรวมข้อมูลผลการปฏิบัติงานเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ของ     ตัวชี้วัดแต่ละตัว สามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น

  • การรวบรวมข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำหรับการคำนวณ เช่น Microsoft Excel ช่วยคำนวณหรือหากจำนวนข้อมูลไม่มากก็ใช้วิธีการแจงนับด้วยมือ
     
  • การสำรวจอาจทำโดยการส่งแบบสอบถาม การสำรวจผ่านทางโทรศัพท์หรือทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
     
  • การสังเกต หรือวิธีการอื่นๆ โดยใช้กลไกง่ายๆที่จะใช้ในการรวบรวมข้อมูลผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น
     

การบันทึกข้อมูลและการอนุมัติข้อมูล

หลังจากที่กรมที่ดิน โดยกองแผนงาน ได้รับรายงานผลการปฏิบัติงานแต่ละรอบเวลา      เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจะบันทึกค่าตัวชี้วัดฯเข้าสู่ระบบงานประยุกต์ของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ และผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะเป็นผู้ตรวจสอบและอนุมัติความถูกต้องของข้อมูล ขั้นตอนนี้มีความสำคัญเนื่องจากหลังการอนุมัติเสร็จสิ้น ค่าตัวชี้วัด           ดังกล่าวจะถูกส่งไปยังระบบงานประยุกต์ผ่านอินเตอร์เน็ต(สำนักงาน ก.. เป็นผู้ออกแบบ และอนุญาตให้กรมที่ดินใช้งาน) เพื่อการวิเคราะห์และรายงานผลสัมฤทธิ์สำหรับผู้บริหารต่อไป

การวิเคราะห์

                     หลังการอนุมัติค่าตัวชี้วัด(ข้อมูล) ระบบงานประยุกต์ดังกล่าวจะวิเคราะห์ และแสดงให้เห็นถึงค่าความสำเร็จของผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพียงใด ถ้าผลการปฏิบัติงานนั้นๆ ไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ สูงหรือต่ำเกินไป ควรหาสาเหตุและเสนอเป็นทางเลือกเพื่อปรับปรุง   ประสิทธิภาพของงานต่อผู้บริหารต่อไป

การรายงานผล

                      ผู้บริหารระดับสูงสามารถเข้าดูรายงานผล(ผ่านรหัสที่ได้รับ) จากระบบงานประยุกต์ของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ทางอินเตอร์เน็ตได้โดยตรงตลอดเวลา รอบระยะเวลาของการรายงานผลขึ้นอยู่กับความถี่ที่ใช้จัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก

 

ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานที่ดิน

อ้างอิงจาก กรอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกรมที่ดินข้างต้น ตัวชี้วัดฯที่มีบทบาท และเกี่ยวข้องกับสำนักงานที่ดิน จัดได้เป็น 2 กลุ่ม; ด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร และด้านองค์ประกอบภายใน

1. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร 

                     ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร (External Perspective) หมายถึงองค์กรหรือบุคคลภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของกรมที่ดิน ได้แก่ ผู้รับบริการ รวมทั้ง       ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ  และเอกชน ตัวชี้วัดฯในด้านผู้ที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานที่ดินมี 5 ตัวชี้วัด ได้แก่

                     1.1 ร้อยละของผลผลิตด้านงานทะเบียนที่เสร็จตามเวลามาตรฐาน

                     งานบริการด้านทะเบียน หมายถึงการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประเภทที่ไม่ต้องประกาศ และไม่ต้องทำการรังวัด

                เวลามาตรฐานอ้างอิงจากระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน พ..2542 ที่ได้กำหนดเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2:30 ชั่วโมงต่อเรื่อง ทั้งนี้นับเฉพาะเวลาปฏิบัติจริง โดยไม่รวมระยะเวลาที่รอเรื่อง ในการจัดเก็บข้อมูลนั้น สำนักงานที่ดินสามารถใช้บัตรคิววิเคราะห์ค่าเฉลี่ยเวลาที่ใช้ในการปฎิบัติแต่ละราย การรายงานขอให้สำนักงานที่ดินรายงานทุกๆเดือน ที่ใต้ตารางที่ 5 ในแบบ บ... 72 ดังตัวอย่างต่อไปนี้

จำนวนงานประเภทแล้วเสร็จในวันเดียว(งานเกิด) รวม......ราย สามารถให้บริการแล้วเสร็จในเวลามาตรฐาน รวม..... ราย (คิดเป็นร้อยละ..........)” 

                      1.2 ร้อยละของผลผลิตด้านงานรังวัดที่เสร็จตามเวลามาตรฐาน

งานบริการด้านรังวัด หมายถึงการรังวัดที่ดินตามคำขอทุกประเภทของสำนักงานที่ดินจังหวัดและสาขา

เวลามาตรฐานอ้างอิงจากระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการปฎิบัติราชการเพื่อประชาชน พ..2542 (กรณีไม่มีปัญหา) กำหนดเวลาให้ฝ่ายรังวัดส่งเรื่องการรังวัดแก่ฝ่ายทะเบียนภายใน 34 วันทำการ นับแต่วันทำการรังวัดเสร็จ ข้อมูลที่ขอให้รายงานได้แก่ จำนวนงานรังวัดที่ส่งให้ฝ่ายทะเบียนทั้งหมดในรอบเดือน(ราย), จำนวนงานรังวัดที่ส่งให้ฝ่ายทะเบียนภายในเวลามาตรฐาน (34 วันทำการ), ร้อยละของงานรังวัดที่เสร็จตามเวลามาตรฐาน โดยให้จัดทำการรายงานเพิ่มเติมในแบบ    ร..19 . ในวิธีการจัดเก็บข้อมูล ขอให้สำนักงานที่ดินจัดเก็บเวลาการดำเนินการได้จากบันทึกหน้าเรื่องการรังวัดที่ดิน  (..82) หรือ ร..12

 

                     1.3 ร้อยละของผู้รับบริการที่มีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ความพึงพอใจวัดได้จาก ความรวดเร็ว เสมอภาค โปร่งใส และมีคุณภาพ วิธีการจัดเก็บ    ข้อมูลประเภทนี้ ใช้การสำรวจ และออกแบบสอบถามทุก 6 เดือนโดยกำหนดกลุ่มตัวแทน ร้อยละ 5 ของผู้ใช้บริการในแต่ละสำนักงานที่ดิน

     1.4 ร้อยละของผู้รับบริการที่รับทราบข้อมูลจากการประชาสัมพันธ์และการแนะนำของกรมที่ดิน

การประชาสัมพันธ์หมายถึง การเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน สื่อบุคคล เอกสารเผยแพร่ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ โดยกรม/สำนักงานที่ดิน การจัดเก็บข้อมูลประเภทนี้ ใช้วิธีการออกแบบสอบถามทุก 6 เดือน โดยกำหนดกลุ่มตัวแทนร้อยละ 5 ของผู้ใช้บริการในแต่ละสำนักงานที่ดิน

                      1.5 ร้อยละของผู้มีสิทธิในที่ดินที่เชื่อมั่นในการคุ้มครองสิทธิโดยกรมที่ดิน

ผู้มีสิทธิในที่ดิน หมายถึงเจ้าของที่ดินที่มาติดต่อขอรับบริการ การจัดเก็บข้อมูลประเภทนี้ ใช้วิธีการออกแบบสอบถามทุก 6 เดือนเช่นเดียวกัน โดยกำหนดกลุ่มตัวแทนร้อยละ 5 ของผู้ใช้บริการในแต่ละสำนักงานที่ดินเช่นเดียวกัน

2. องค์ประกอบภายในองค์กร

องค์ประกอบภายในองค์กร (Internal Perspective) หมายถึงกระบวนการทำงานและการให้บริการ การพัฒนาบุคลากรทั้งด้านสมรรถนะ คุณธรรม และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายในกรมที่ดิน ตัวชี้วัดฯในด้านองค์ประกอบภายในสำนักงานที่ดินมี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่

2.1 ร้อยละของบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และหลักสูตรสร้างจิตสำนึกในการให้บริการที่จัดโดยกรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินตามเป้าหมาย

การพัฒนา หมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพโดยผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่จัดโดยกรมที่ดิน หรือแผน/ตารางสอนงานที่จัดทำโดยสำนักงานที่ดิน ข้อมูลประเภทนี้สำรวจได้จากจำนวนบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินที่ได้รับการพัฒนาและฝึกอบรมดังกล่าวทุก 6 เดือน (เป้าหมายที่ตั้งไว้ ประมาณร้อยละ 40 ของบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ทั้งหมด)

2.2 ร้อยละของผู้บริหารที่มีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ผู้บริหารในที่นี้ หมายถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด และสาขา **

เจ้าหน้าที่ หมายถึงบุคคลที่ปฏิบัติงานในสำนักงานที่ดินดังกล่าว การจัดเก็บข้อมูลจะ  ดำเนินการโดยใช้แบบสอบถามทุก 6 เดือน

2.3 ร้อยละของเจ้าหน้าที่ที่มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของตนเอง

เจ้าหน้าที่ หมายถึงบุคคลที่ปฏิบัติงานในสำนักงานที่ดินจังหวัด และสาขา (ไม่รวม          เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด และสาขา) การจัดเก็บข้อมูลจะดำเนินการโดยใช้แบบสอบถาม (สำรวจไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเจ้าหน้าที่) ทุก 6 เดือน

การจัดเก็บข้อมูลตามข้อที่ 1.1 และ 1.2  จะดำเนินการทุกเดือน โดยเริ่มตั้งแต่  วันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป ส่วนข้อมูลประเภทอื่น กรมที่ดินจะจัดทำแบบสอบถาม ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ซ้ำซ้อน และจัดส่งในคราวเดียวกันไปยังสำนักงานที่ดินทั่วประเทศตามรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ (ในกรณีนี้ ทุก 6 เดือน) เพื่อเป็นการลดภาระของสำนักงานที่ดินโดยที่ชุดแรกจะส่งไปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2545


 * สำนักงานที่ดิน ในที่นี้ไม่รวมถึงสำนักงานที่ดินอำเภอ

** รวมหมายถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และสาขา