​​เปลี่ยนคอมฯ ให้เป็นเครือข่ายไร้สาย Wi-Fi​


เปลี่ยนคอมฯ ให้เป็นเครือข่ายไร้สาย Wi-Fi


            เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ถูกพัฒนาเป็นเครื่องมือไร้สายกันเสียจนเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์หรือเมาส์ ต่างก็ยกขบวนกันตัดสายที่เคยรกรุงรังออกเสียจนหมด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความสะดวกในการเคลื่อนย้าย และการใช้งาน ระบบเครือข่ายก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นระบบไร้สายเช่นกัน

การใช้ระบบเครือข่าย นับเป็นการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์จำนวนหลายเครื่องร่วมกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการโอนไฟล์หรือแชร์ทรัพยากรระหว่างเครื่องให้ใช้งานคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีใช้กันเฉพาะในออฟฟิศเท่านั้น แต่ยังได้มีการนำไปใช้กันภายในบ้าน (ที่มีคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 เครื่อง) กันมากขึ้น


เครือข่ายมาตรฐาน

ระบบเครือข่ายที่นิยมใช้กันแต่เดิม ก็คือมาตรฐาน Ethernet 10/100 ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายแบบมีสาย ถึงแม้จะสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ก็ยังไม่ค่อยสะดวกนัก ยิ่งในปัจจุบันที่คอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนจากพีซีไปเป็นโน้ตบุ๊กซึ่งมีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งอยู่เสมอ การที่ต้องผูกติดกับเรื่องการหาสายเคเบิลมาเชื่อมต่อเข้าเครือข่าย คงสร้างความลำบากให้กับผู้ใช้ไม่น้อยทีเดียว ระบบเครือข่ายแบบไร้สายจึงเป็นทางเลือกที่ดีและสะดวกกว่า

คุณอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องใช้ระบบเครือข่ายไร้สาย คำตอบก็คือการใช้งานระบบไร้สาย ช่วยเพิ่มความสะดวกสำหรับการวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ได้มากขึ้น ไม่ต้องพะวงว่าจุดที่วางนั้นมีช่องสำหรับต่อสายเคเบิ้ลหรือไม่ อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังสามารถติดตั้งเพื่อใช้งานได้เอง ยิ่งถ้าใช้โน้ตบุ๊ก ก็จะยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่ เพราะโน้ตบุ๊กส่วนใหญ่จะติดตั้งระบบเน็ตเวิร์กไร้สายมาให้ในตัวอยู่แล้ว


มาตรฐานของ
Wi-Fi

             ก่อนที่จะเข้าสู่รายละเอียดการติดตั้ง เราจะมาทำความรู้จักกับมาตรฐานของเครือข่ายไร้สาย หรือที่เราเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า Wi-Fi ที่ได้รับการยอมรับและวางจำหน่ายกันในท้องตลาดอย่างถูกต้อง จะแบ่งออกเป็นสองมาตรฐานหลักๆ คือมาตรฐาน 802.11b และมาตรฐาน 802.11g (ส่วน 802.11a ไม่เป็นที่ยอมรับในการใช้งาน เนื่องจากมีปัญหาทางด้านความถี่)
            802.11b เป็นมาตรฐานที่ใช้ความถี่ในการทำงานอยู่ที่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ โดยให้แบนวิดธ์ในการทำงานอยู่ที่ 11 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งหากเทียบกับระบบเน็ตเวิร์กแบบมีสายอาจจะเห็นว่าน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว ตัวอย่างเช่น นำไปเปรียบเทียบกับเครือข่าย 100 เมกะบิต ก็จะเห็นว่ามีแบนวิดธ์ในการใช้งานน้อยกว่า 10 เท่า แต่สำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป เช่น การแชร์ไฟล์ หรือว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ต ด้วยความเร็วระดับ 11 เมกะบิต ก็นับว่าเพียงพอสำหรับงานเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอ

802.11g มาตรฐานใหม่สำหรับระบบเน็ตเวิร์กไร้สาย ที่พัฒนามาจากพื้นฐานของมาตรฐาน 802.11g โดยยังคงพื้นฐานของความถี่เดียวกัน คือ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ แต่มีแบนวิดธ์ในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 54 เมกะบิตต่อวินาที ทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น มากกว่า 802.11b ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับระบบเครือข่ายแบบมีสาย แต่ก็ให้ได้ประสิทธิภาพที่เหนือกว่า 802.11b อยู่มากทีเดียว และแน่นอนว่าเมื่อประสิทธิภาพสูงกว่า ราคาก็ย่อมที่จะแพงกว่าตามไปด้วย แต่ก็ไม่ได้แพงกว่า 802.11b มากมายนัก ซึ่งหากคุณต้องการจะวางระบบเน็ตเวิร์กไร้สายใหม่ ก็น่าจะมองกันที่ 802.11g มากกว่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับมาตรฐานของ 802.11b ได้อีกด้วยด้วย


รูปแบบของการวางระบบเครือข่าย

            รูปแบบของการวางระบบเครือข่ายมีอยู่ด้วยกันสองรูปแบบ คือการวางโครงข่ายแบบ Infrastructure และ Ad Hoc โดยรูปแบบของ Infra-structure จะมีการใช้อุปกรณ์เสริมเข้ามาช่วย ที่เรียกว่า Access Point โดย Access Point จะเป็นเหมือนกับ Hub ในการช่วยกระจายสัญญาณออกไป รวมถึงเป็นตัวเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายหลัก ทำให้ลูกข่ายแบบไร้สาย สามารถต่อเข้ากับระบบเครือข่ายได้โดยสะดวก ส่วน Ad Hoc เน็ตเวิร์กนั้น จะเป็นเหมือนกับการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างเครื่อง โดยคอมพิวเตอร์ที่มีการ์ด Wireless อยู่แล้ว สามารถปรับเข้าสู่โหมดนี้ เพื่อเชื่อมต่อกันได้โดยตรง เรียกว่าเป็นการเชื่อมต่อกันระหว่างการ์ดเน็ตเวิร์กด้วยกันก็ย่อมได้

อันไหนจะเหมาะสมกว่ากัน

ในการใช้งานนั้น ทั้ง Ad Hoc และ Infra structure ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน เรียกว่าหากคุณมีคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง การใช้งานแบบ Infrastructure อาจจะดูเหมาะสมกว่า เพราะคุณเพียงแต่ต่อ Access Point เข้ากับคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของระบบเครือข่ายไร้สาย ก็สามารถที่จะใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ได้แล้ว รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อกันได้ในระยะไกลๆ โดยมีรัศมีในการใช้งานอยู่ที่ 100 เมตร ซึ่งก็สามารถครอบคลุมการใช้งานภายในบ้านได้อย่างสบายๆ

เพียงแต่ข้อเสียของระบบเครือข่ายไร้สาย อาจจะอยู่ที่การใช้งานตามห้องต่างๆ เพราะสัญญาณของระบบเน็ตเวิร์กนั้น อาจจะไม่สามารถทะลวงผ่านกำแพงที่มีความหนาออกไปได้ ทำให้หากต้องอยู่ห่างจากตัวรับส่งสัญญาณมากๆ ก็จะทำให้สัญญาณนั้นอ่อน และใช้งานระบบเน็ตเวิร์กไม่ได้


อัพเกรดเน็ตเวิร์กยังไงดี

เอาล่ะก็พอรู้จักกับระบบไร้สายกันไปพอหอมปากหอมคอ คราวนี้ก็คงมาถึงเวลาของการอัพเกรดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง อันดับแรกจะต้องติดตั้งการ์ดเน็ตเวิร์กไร้สายเพิ่มเข้าไปภายในเครื่องก่อน ซึ่งการ์ดนี้เปรียบไปแล้วก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการ์ดอื่นๆ ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดหรอกครับ ส่วนชนิดของการ์ดก็อาจจะแบ่งออกได้เป็นหลายๆ แบบ แต่ที่นิยมก็คือ การ์ดแบบ PCI สำหรับติดตั้งเข้ากับเครื่องเดสก์ทอป และแบบ PCMCIA สำหรับบรรดาคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปทั้งหลาย ซึ่งก็มีให้เลือกใช้กันทั้งในระบบ 802.11b และ 802.11g เช่นกัน และที่กำลังมาแรงก็คือการ์ดแบบ USB ที่สามารถติดตั้งและใช้งานระบบไวร์เลสผ่านทางพอร์ต USB ได้เลย ซึ่งในแง่ของการใช้งานก็นับว่าสะดวกมากขึ้น

ส่วนคนที่ใช้โน้ตบุ๊กก็ง่ายหน่อย เพราะรุ่นที่ออกมาใหม่ส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งการ์ดเน็ตเวิร์กไว้ภายในมาเรียบร้อยตั้งแต่ตอนซื้อ จะมีข้อจำกัดบ้างก็คงเป็นเรื่องการ์ดที่ให้มานั้นมักเป็นการ์ดแบบ 802.11b ซึ่งมีความเร็วในการทำงานที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมากมาย เพราะจะว่าไปแล้วความเร็วขนาด 11 เมกะบิตต่อวินาที ก็ยังคงพอสำหรับใช้งานทั่วๆ ไปอยู่ดี

สำหรับการ์ดแบบ PCI ระบบไวร์เลส อาจจะมีให้เลือกใช้งานกันอยู่สองลักษณะ แบบแรกก็คือการเป็นการ์ดระบบไวร์เลสโดยตรง และแบบที่สองจะเป็นการ์ที่มีสล็อตสำหรับใส่การ์ด PCMCIA อีกที อันนี้ก็แล้วแต่คุณจะเลือกแบบไหนมาใช้งาน แต่ถ้าเอาสล็อต PCMCIA เปล่า ก็จะต้องเพิ่มราคาในการติดตั้งเข้าไปอีก ทำให้มูลค่าในการลงทุนนั้นสูงกว่าเดิม


การติดตั้ง

มาถึงการติดตั้งบ้างล่ะ จะว่าไปแล้วการติดตั้งระบบ Wireless นี้ ไม่ได้แตกต่างไปจากการติดตั้งระบบเน็ตเวิร์กทั่วๆ ไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบปฏิบัติการต่างๆ ในกัจจุบัน ที่อำนวยความสะดวกให้การติดตั้งนั้นยิ่งง่ายขึ้นไปอีก หากเป็นคอมพิวเตอร์แบบเดสก์ทอป ก็แค่เปิดฝาเครื่องแล้วเสียบการ์ดลงไป เมื่อเปิดเครื่องอีกครั้ง ก็เพียงแค่ใส่แผ่นซีดีรอมที่มาพร้อมกับการ์ดลงไป เพื่อติดตั้งไดรเวอร์ ก็พร้อมที่จะใช้งานได้ทันทีแล้ว

ส่วนหากเป็นการ์ดแบบ PCMCIA และ USB ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ติดตั้งการ์ดทั้งสองเข้ากับคอมพิวเตอร์ก็สามารถใช้งานได้ทันทีเหมือนกัน เพียงแต่หากเป็นแบบ USB ก็อาจจะยุ่งยากหน่อย เพราะจำเป็นต้องมีการอัพเดทระบบปฏิบัติการบางอย่างเพิ่มเข้าไปด้วย เช่นถ้าเป็นวินโดวส์เอ็กซ์พีก็จำเป็นต้องติดตั้ง Service Pack 1 ให้เรียบร้อยเสียก่อนถึงจะใช้งานได้ ซึ่งหลังจากที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ก็เหลือแต่เพียงการปรับแต่งค่าเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง

หลังจากที่ติดตั้งการ์ดพร้อมไดรเวอร์เรียบร้อยแล้ว เราก็จะพบว่ามีไอคอนที่แสดงสถานะปรากฏที่ทาสก์บาร์ ก็ให้เราคลิ้กที่ไอคอน Wireless จะปรากฏหน้าต่างของ Wireless Properties ขึ้นมาดังรูปที่ 1


รูปที่ 1 หน้าต่างของการกำหนดค่า Wireless Network


            จากนั้นให้เพิ่มเครือข่าย โดยการคลิ้กที่ปุ่ม Add เพื่อกำหนดกรุ๊ปของการให้บริการขึ้นมาก่อน ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 กำหนดกรุ๊ปการใช้งานของระบบเน็ตเวิร์กไร้สายขึ้น


สำหรับการกำหนดการทำงานนั้น ระหว่างการทำงานแบบ Infrastructure กับ Ad Hoc เน็ตเวิร์กนั้นต่างกัน หากต้องการใช้งานแบบ Ad hoc ก็ต้องกำหนดให้การทำงานของไวร์เลสให้เป็น Ad hoc เพียงอย่างเดียวก่อน ซึ่งก็ทำได้โดยการกดที่ปุ่ม Advanced แล้วกำหนดการทำงานให้เป็น Ad hoc only โดยการเลือกที่ computer-to-computer (ad hoc) networks only ดังรูปที่ 3


รูปที่ 3 กำหนดการทำงานของไวร์เลสให้เป็นแบบ ad hoc เพียงอย่างเดียว


            หลังจากที่กำหนดการทำงานเรียบร้อยแล้ว ก็ให้คลิ้กที่ปุ่ม
OK และเมื่อคุณคลิ้กที่ wireless properties ก็จะพบว่ามีเครือข่าย ปรากฏขึ้นมาให้ใช้งานแล้ว ก็ให้เลือกที่เครือข่ายนั้น แล้วคลิ้กที่ configure เพื่อเลือกเข้าไปใช้งาน ดังรูปที่ 4


รูปที่ 4 เลือกเครือข่ายที่จะเข้าใช้งาน


            หลังจากนี้ หากมีคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง ก็ให้เลือกแอคเซสเครือข่ายเดียวกันที่เลือกไว้ เท่านี้สามารถเลือกใช้งานเครือข่ายไวร์เลสเพื่อแบ่งปันไฟล์และข้อมูล รวมถึงอินเทอร์เน็ต เห็นไหมครับว่าการทำให้คอมพิวเตอร์ของเรากลายเป็นระบบเครือข่ายไร้สาย ไม่ได้ยากจนคุณทำเองไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ประโยชน์ที่จะได้รับกลับมารับรองว่าคุ้มค่ากับการอัพเกรดอย่างแน่นอน